การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน
สำหรับเด็กปฐมวัย
ช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ของมนุษย์คือ แรกเกิดถึง 7 ปี หากมาส่งเสริมหลังจากวัยนี้แล้วถือได้ว่าสายเสียแล้ว เพราะการพัฒนาสมองของมนุษย์ในช่วงวัยนี้จะพัฒนาไปถึง 80 % ของผู้ใหญ่ ครูควรจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น เรียนรู้อย่างมีความสุข จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ดูแลด้านสุขนิสัยและโภชนาการเหมาะสม เด็กจึงจะพัฒนาศักยภาพสมองของเขาได้อย่างเต็มความสามารถ
สมองของเด็กเรียนรู้มากกว่าสมองของผู้ใหญ่เป็นพันๆเท่า เด็กเรียนรู้ทุกอย่างที่เข้ามาปะทะ สิ่งที่เข้ามาปะทะล้วนเป็นข้อมูลเข้าไปกระตุ้นสมองเด็กทำให้เซลล์ต่างๆเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อต่างๆอย่างมากมายซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น สมองจะทำหน้าที่นี้ไปจนถึงอายุ 10 ปีจากนั้นสมองจะเริ่มขจัดข้อมูลที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันทิ้งไปเพื่อให้ส่วนที่เหลือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐาน (Brain-based Learning) เกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญ 3 ประการ คือ 1.)การทำงานของสมอง 2.)การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก 3.)กระบวนการจัดการเรียนรู้โดยเปิดกว้าง ให้เด็กเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง เนื่องจากสมองเรียนรู้ตลอดเวลา ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติหรือลงมือกระทำด้วยตนเอง ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบร่วมมือและผู้เรียนได้เรียนรู้แบบบูรณาการ การเรียนรู้ที่ถือสมองเป็นพื้นฐานส่งเสริมให้เด็กไทยได้พัฒนาศักยภาพสมองของเขาอย่างเต็มความสามารถ
การทำงานของสมอง
สมองเริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ เมื่อคลอดออกมาจะมีเซลล์สมองเกือบทั้งหมดแล้วเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ สมองยังคงเติบโตไปได้อีกมากในช่วงแรกเกิดถึง 3 ปี เด็กวัยนี้จะมีขนาดสมองประมาณ 80 % ของผู้ใหญ่ หลังจากวัยนี้ไปแล้วจะไม่มีการเพิ่มเซลล์สมองอีกแต่จะเป็นการพัฒนาของโครงข่ายเส้นใยประสาท ในวัย 10 ปีเป็นต้นไปสมองจะเริ่มเข้าสู่วัยถดถอยอย่างช้าๆจะไม่มีการสร้างเซลล์สมองมาทดแทนใหม่อีก ปฐมวัยจึงเป็นวัยที่มีความสำคัญยิ่งของมนุษย์
ผู้ปกครองมีบทบาทอย่างไรในการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก
1. ให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยการลงมือกระทำโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5
ในการทำกิจกรรม 1 กิจกรรมพยายามให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสหลายอย่างร่วมกัน
การเรียนจากการปฏิบัติจะทำให้เด็กเกิดความเข้าใจ
“ ฉันฟัง ฉันลืม
ฉันเห็น ฉันจำได้
ฉันได้ทำ ฉันเข้าใจ”
2. ให้เด็กได้พูดในสิ่งที่เขาคิด และได้ลงมือกระทำ ถ้าไม่ได้พูดสมองไม่พัฒนา ต้องฝึกให้ใช้สมองมากๆอย่างมีความสุข ไม่ให้เครียด
3. ผู้ใหญ่ต้องรับฟังในสิ่งที่เขาพูดด้วยความตั้งใจ และพยายามเข้าใจเขา
เด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจเหตุผล ลูกไม่รู้ว่าแม่เหนื่อย ลูกไม่เข้าใจ ลูกก็ซน ช่างซักช่างถาม อย่ารำคาญ อย่าโกรธลูกเลย รักลูกก็ให้กอดลูกแล้วบอกว่าแม่รักพ่อรัก แสดงความรักออกมาอย่างจริงใจ แสดงความใส่ใจต่อลูก นี้คือยาวิเศษที่ลูกต้องการ คนที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุดคือคนอารมณ์ดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น